วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560
อิบนุ บัฏฏูเฏ๊าะฮฺ นักท่องโลกที่ถูกลืม
บรรจง บินกาซัน
ในยุคกลางก่อนที่ประเทศยุโรปจะเริ่มออกล่าอาณานิคมปล้นทรัพย์สิน ดินแดนและแรงงานทาสจากส่วนต่างๆของโลกเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศของตนนั้น ชาวโลกได้รู้จักมาร์โคโปโลว่าเป็นนักเดินทางท่องโลกแต่เพียงผู้เดียวโดยหารู้ไม่ว่าในโลกอิสลามก็มีนักเดินทางที่มีชื่อเสียงของโลกอีกคนหนึ่งซึ่งชาวโลกน้อยคนนักที่จะรู้จักชื่อของเขา นั่นคือ อิบนุบัฏฏูเฏ๊าะฮฺ ทั้งๆที่ตำนานการเดินทางของเขาผู้นี้ไม่แพ้มาร์โคโปโลเลย
อิบนุบัฏฏูเฎ๊าะฮฺ หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่าชัมซุดดีน เกิดที่เมืองแทนเจียร์ ประเทศโมร็อคโคเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1304 เขาเริ่มออกเดินทางจากเมืองแทนเจียร์เมื่อวันพฤหัสที่ 14 มิถุนยาน ค.ศ.1325 เมื่ออายุได้ 21 ปีและใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 ปีจึงได้กลับสู่เมืองเฟซในสมัยของสุลต่าน อบูอินานและได้บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของเขาให้แก่อิบนุญุซัยซึ่งเป็นอาลักษณ์ของสุลต่านได้บันทึกไว้ อิบนุบัฏฏูเฏ๊าะฮฺเสียชีวิตที่เมืองเฟซใน ค.ศ.1369
ในตอนที่เขาออกเดินทางนั้น อาณาจักรอิสลามได้แผ่ไปถึงอินเดียแล้ว อิบนุบัฏฏูเฏ๊าะฮฺเป็นนักเดินทางสมัยกลางเพียงคนเดียวที่ได้ไปเยี่ยมแผ่นดินของผู้ปกครองมุสลิมทุกคนในสมัยนั้น นอกจากนี้แล้ว เขายังได้เดินทางไปยังศรีลังกา จีน ไบแซนติอุมและรัสเซียตอนใต้ด้วย แม้แผ่นดินอิสลามจะกว้างใหญ่ไพศาลที่ประกอบไปด้วยผู้คนต่างเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ สีผิวและภาษา แต่แผ่นดินอิสลามก็ไม่มีอาณาเขตทางภูมิศาสตร์มาขวางกั้น เขาจึงไม่ต้องใช้พาสปอร์ตหรือวีซ่าในการผ่านแดน แค่เพียงกล่าวคำว่า “อัสสะลามุอะลัยกุม” เขาก็สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ทั่วทุกแห่งเหมือนกับประชาชนในท้องถิ่นนั้น
การเดินทาง
ในตอนเริ่มแรกของการเดินทาง อิบนุบัฏฏูเฏ๊าะฮฺได้เดินทางผ่านอัลเจียร์ส ตูนิส อียิปต์ ปาเลสไตน์และซีเรียไปสู่มักก๊ะฮฺ หลังจากที่เข้าไปในอิรัก ชีราซและเมโสโปเตเมียแล้ว เขาก็เดินทางกลับไปทำฮัจญ์ที่มักก๊ะฮฺและอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นก็เดินทางต่อไปยังญิดด๊ะฮฺและไปยังเยเมนโดยทางทะเล แวะเยี่ยมเมืองเอเดนและเลยไปยังมอมบาซาในอาฟริกาตะวันออก หลังจากไปยังคุลวาแล้ว เขาก็กลับมายังโอมานและไปทำฮัจญ์อีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ.1332 ผ่านทางช่องแคบฮอร์มุซ สิรอฟ บาห์เรนและยะมามะฮฺ
ต่อมา เขาได้ออกเดินทางเพื่อจะไปอินเดีย แต่เมื่อมาถึงญิดด๊ะฮฺ เขาก็เปลี่ยนใจไปไคโร ปาเลสไตน์และซีเรีย(อาจเป็นเพราะว่าไม่มีเรือเดินทะเลไปอินเดีย) หลังจากนั้นก็มาถึงเอเชียไมเนอร์โดยทางทะเลและเดินทางข้ามคาบสมุทรอนาโตเลียและสิโนปี จากนั้นก็ข้ามทะเลดำ หลังจากที่เดินทางอย่างยาวไกล เขาก็มาถึงเมืองคอนสแตนติโนเปิล(ปัจจุบันคืออิสตันบูล)ทางยูเครนตอนใต้
ในตอนขากลับ เขาได้แวะที่คูรอซานโดยผ่านทางคอวาริสม์(คิวา)และได้ไปเยี่ยมเมืองสำคัญต่างๆทั้งหมด เช่น บุคอรอ บัลค์ เฮรัต ตุส มัชฮัดและนิชาปูร์ เขาข้ามเทือกเขาฮินดูกูชทางช่องเขาคอวัคซึ่งสูง 13,000 ฟุตเข้าไปในอาฟกานิสถานทางเมืองฆอนี กาบูลและเข้าไปในอินเดีย หลังจากที่ไปยังลาฮ์รี(ใกล้กับการาจีปัจจุบัน) ซุกกูร์ มุลตาน ซิรซาและฮันซีแล้ว เขาก็ไปถึงเดลฮี
อิบนุบัฏฏูเฏ๊าะฮฺได้รับการอุปถัมภ์จากสุลต่านมุฮัมมัด ตุฆลากและต่อมาก็ได้ถูกส่งไปเป็นทูตที่ประเทศจีน หลังจากนั้น เขาก็เดินทางเข้ามาทางอินเดียกลางแล้วลงเรือจากกัมบัยไปยังกัว หลังจากแวะตามเมืองท่าต่างๆตามชายฝั่งมาลาบาร์แล้ว เขาก็ไปถึงเกาะมัลดีฟส์ซึ่งจากที่นั่นเขาได้ข้ามไปยังเกาะลังกา
อิบนุบัฏฏุเฏ๊าะฮฺล่องเรือไปตามชายฝั่งอารากันและมาถึงสุมาตรา จากนั้นก็ไปยังเมืองกวางตุ้งผ่านทางมาลายาและเขมร ในจีน เขาเดินทางขึ้นเหนือไปยังปักกิ่งผ่านทางหางโจว ต่อมา เขาก็ใช้เส้นทางเดิมในการกลับไปยังคาลีคัตและใช้เรือเดินทางมายังดะฟารีและมัสกัตโดยผ่านมาทางอิหร่าน อิรัก ซีเรีย ปาเลสไตน์และอียิปต์ หลังจากนั้นก็มาทำพิธีฮัจญ์ครั้งที่เจ็ดซึ่งเป็นการทำพิธีฮัจญ์ครั้งสุดท้ายของเขาที่มักก๊ะฮฺในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1348 แล้วก็เดินทางกลับเมืองเฟซบ้านเกิดเมืองนอนของเขา อย่างไรก็ตาม การเดินทางของเขาก็มิได้สิ้นสุดที่นี่ เพราะต่อมา เขาได้ข้ามทะเลทรายสะฮาราไปแวะเยี่ยมสเปนและดินแดนแห่งไนเจอร์อีก
ในตอนขากลับไปยังเมืองเฟซ อิบนุบัฏฏุเฏ๊าะฮฺได้บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของเขาให้ญุซัย อัลกัลบี(ค.ศ.1321-1356)ที่สำนักสุลต่าน อบูอินาน(ค.ศ.1348-1358)บันทึกไว้ อิบนุญุซัยใช้เวลา 3 เดือนในการรวบรวมงานของเขาเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ.1355
บันทึกการเดินทาง
เรื่องราวการเดินทางของเขาทำให้เราได้รู้อะไรมากมายในดินแดนต่างๆอย่างกว้างขวาง ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งจากการบอกเล่าเรื่องราวของเขาซึ่งทำให้เราเห็นระบบหลักประกันสังคมในโลกมุสลิมในคริสต์ศตวรรษที่ 14 :-
“ความหลากหลายและการใช้จ่ายเงินกองทุนทางศาสนาที่ดามัสกัสนั้นเกินกว่าที่จะคำนวณ มีกองทุนให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ไม่สามารถไปทำฮัจญ์ที่มักก๊ะฮฺซึ่งส่วนหนึ่งได้ถูกจ่ายให้แก่คนที่ไปทำฮัจญ์แทนตน มีกองทุนสำหรับช่วยเหลือการเลี้ยงแต่งงานของผู้หญิงที่ครอบครัวไม่สามารถจะจัดทำได้และกองทุนสำหรับการปล่อยนักโทษให้เป็นอิสระ มีกองทุนสำหรับนักเดินทางซึ่งส่วนหนึ่งได้ถูกนำมาจัดเตรียมอาหาร เสื้อผ้าและค่าพาหนะในการกลับไปยังประเทศของตน มีกองทุนสำหรับปรับปรุงและการสร้างถนนเพราะทุกซอกซอยในดามัสกัสมีทางเดินเท้าสองข้างสำหรับคนเดินในขณะที่คนที่ใช้พาหนะขับขี่จะใช้ถนนที่อยู่ตรงกลาง”
อีกตัวอย่างหนึ่งที่บรรยายถึงเมืองแบกแดดในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14
“หลังจากนั้น เราได้เดินทางไปยังแบกแดด แผ่นดินแห่งความสงบและเมืองหลวงของอิสลาม ที่นี่มีสะพานสองแห่งเหมือนกับที่ฮิลลาซึ่งผู้คนทั้งชายและหญิงเดินทอดน่องไปมาทั้งกลางคืนและกลางวัน ห้องอาบน้ำที่แบกแดดมีมากมายและถูกสร้างอย่างดี ส่วนใหญ่แล้วทาด้วยน้ำมันดินซึ่งดูแล้วเหมือนกับหินอ่อนสีดำ น้ำมันดินถูกนำมาจากตาน้ำแห่งหนึ่งระหว่างกูฟากับบัสเราะฮฺซึ่งมีไหลอยู่ตลอดเวลา มันถูกตักมาจากข้างตาน้ำเหมือนกับโคลนและถูกนำมายังแบกแดด อาคารแต่ละแห่งจะมีห้องอาบน้ำส่วนตัวซึ่งในแต่ละห้องจะมีถังน้ำอยู่ตรงมุมพร้อมกับก๊อกน้ำร้อนและน้ำเย็น คนอาบน้ำแต่ละคนจะได้รับผ้าเช็ดตัวสามผืน ผืนหนึ่งสำหรับนุ่งเมื่อเข้าไปในห้องอาบน้ำ อีกผืนหนึ่งสำหรับนุ่งออกมาและผืนที่สามมีไว้สำหรับเช็ดตัว”
ในตอนหนึ่ง เขาได้บรรยายรายละเอียดถึงพืชผลต่างๆที่พบระหว่างการเดินทางว่า :-
“จากคุลวา เราล่องเรือไปยังดาฟารีปลายสุดของเยเมน ม้าพันธุ์ดีจะถูกส่งออกไปยังอินเดียจากที่นี่ซึ่งการเดินทางใช้เวลาหนึ่งเดือนถ้าลมเป็นใจ ชาวเมืองปลูกข้าวฟ่างและนำน้ำจากบ่อลึกมาใช้ในการเพาะปลูกโดยใช้ถังขนาดใหญ่ที่ใช้เชือกหลายเส้นตักขึ้นมา ในเมืองใกล้เคียงมีสวนที่มีต้นกล้วยมากมาย กล้วยก็มีขนาดใหญ่ซึ่งลูกหนึ่งถูกนำไปชั่งต่อหน้าฉันหนักถึง 12 ออนซ์และรสชาติหวานอร่อยมาก นอกจากนี้ พวกเขายังปลูกต้นพลูและต้นปาล์มโกโกที่พบได้เฉพาะในอินเดียและเมืองดาฟารีด้วย”
“ต้นพลูไม่มีผล แต่ผู้คนปลูกเพื่อเอาใบของมัน คนอินเดียนิยมใบพลูและถ้าใครเอาใบพลูไปให้ใครสักห้าใบ เขาจะรู้สึกว่าได้โลกทั้งใบ โดยเฉพาะถ้าผู้ให้เป็นเจ้าชายหรือคนมีเกียรติ การให้ใบพลูเป็นของขวัญถือว่าเป็นการให้เกียรติที่ยิ่งใหญ่กว่าการให้ทองคำและเงิน เวลาจะกินก็ทำดังนี้ คือ เอาผลหมากมาบี้เป็นชิ้นเล็กๆและเคี้ยวไปก่อน หลังจากนั้นก็เอาใบพลูมาป้ายปูนลงไปนิดหน่อยแล้วใส่ปากเคี้ยวไปพร้อมกับหมาก”
นักเดินทางที่ถูกลืม
การเดินทางทางทะเลของอิบนุบัฏฏูเฏ๊าะฮฺทำให้เรารู้ว่าในเวลานั้นมุสลิมมีอำนาจอย่างสมบูรณ์ในทะเลแดง ทะเลอาหรับ มหาสมุทรอินเดียและน่านน้ำจีน นอกจากนี้แล้วยังเห็นได้ว่าถึงแม้พ่อค้าชาวคริสเตียนยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดบางอย่าง แต่การเจรจาทางด้านการค้าส่วนใหญ่ก็ทำไปบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันและความเคารพซึ่งกันและกัน
อิบนุบัฏฏูเฏ๊าะฮฺหนึ่งในนักเดินทางคนสำคัญตลอดกาลได้ไปยังเมืองจีนหลังมาร์โคโปโล60 ปี แต่เขาเดินทางเป็นระยะทาง 75,000 ไมล์ซึ่งมากกว่ามาร์โคโปโล แต่เรื่องราวของเขาไม่เคยถูกกล่าวถึงในหนังสือภูมิศาสตร์ทั้งๆที่อิบนุบัฏฏูเฏ๊าะฮฺก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งใหญ่ต่อวิชาภูมิศาสตร์เหมือนกับนักภูมิศาสตร์อื่นๆ แต่น่าเสียดายที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงเรื่องราวการเดินทางของเขาได้อย่างง่ายดายนอกไปจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
ที่มา : facebook ของอาจารย์บรรจง บินกาซัน มูลนิธิสันติชน
https://www.facebook.com/Banjong.Binkason
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น