บรรจง บินกาซัน
ก่อนยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ศูนย์กลางความเจริญทางวิชาการและอารยะธรรมที่สำคัญของโลกอยู่ที่อิรักและอาณาจักรอันดะลุสที่มุสลิมสร้างขึ้นในสเปน แต่หลังจากยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ศูนย์กลางความเจริญได้ย้ายมาอยู่ในยุโรป
เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 เครื่องจักรไอน้ำทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆในยุโรปโดยเฉพาะในอังกฤษมีเครื่องจักรที่สามารถผลิตสินค้าได้เกินความต้องการภายในประเทศ จึงต้องระบายสินค้าออกไปต่างประเทศ เรือกลไฟและรถไฟได้ช่วยทำหน้าที่ระบายสินค้าจากยุโรปไปสู่ประเทศต่างๆและนำทรัพยากรจากประเทศอื่นๆกลับมาเช่นกันซึ่งทำให้การล่าอาณานิคมเกิดขึ้นตามมา
เพื่อระบายสินค้าที่ผลิตได้เกินความต้องการภายในประเทศ อังกฤษและชาติอื่นๆในยุโรปจำเป็นต้องสร้างดีมานด์จากต่างชาติให้มากขึ้น ชาติยุโรปจึงให้ทุนแก่นักศึกษาในชาติต่างๆไปศึกษาต่อขั้นสูงในยุโรปและสนับสนุนนักศึกษาเหล่านี้ให้กลับไปเป็นผู้ปกครองประชาชนตามแนวความคิดตะวันตก
ในประเทศแถบเอเชีย เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ชาติตะวันตกพยายามที่จะทำให้ผู้คนหันมาใช้วิถีชีวิตตามวัฒนธรรมตะวันตกเพื่อบริโภคสินค้าจากตะวันตก แต่ความพยายามของชาตินักล่าอาณานิคมต้องประสบกับการต่อต้าน เพราะชาวตะวันออกรู้สึกว่าถึงแม้ตัวเองจะใช้ชีวิตตามวิถีตะวันตก แต่ชาวตะวันตกก็ยังคงเหยียดชนชาติอื่นว่าต่ำต้อยด้อยค่ากว่าตนและไม่ยอมรับวัฒนธรรมของชาวตะวันออก
มหาตมะ คานธี เป็นคนหนึ่งที่รู้ซึ้งถึงทัศนคติของชาวตะวันตกเมื่อเขาไปศึกษาที่อังกฤษและทำงานเป็นทนายในอาฟริกา แม้เขาจะแต่งตัวใส่สูทผ้าขนแกะที่ทอจากโรงงานในเมืองแมนเชสเตอร์และผูกเนคไทเหมือนชาวอังกฤษ แต่เขาก็ยังถูกชาวผิวขาวเหยียดผิวชังพันธุ์
เมื่อเขากลับมายังอินเดียที่อยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ เขาเริ่มรณรงค์ให้ชาวอินเดียรักษาวัฒนธรรมและภาษาของชาวอินเดียไว้ เขาถือว่าถ้าคนอินเดียแต่งตัวเหมือนชาวอังกฤษและพูดภาษาอังกฤษ วัฒนธรรมของคนอินเดียก็จะหมดไป เขาละทิ้งเสื้อสูทแบบตะวันตกและหันมาทอผ้าเพื่อนุ่งห่มตามแบบอินเดียเพื่อเป็นการต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตกแบบอหิงสาและได้รับการสนับสนุนจากชาวอินเดียที่เลื่อมใสในตัวเขา
แค่เพียงเท่านี้ ความต้องการผ้าขนสัตว์เพื่อการตัดสูทในอินเดียก็ลดลง ส่งผลสะเทือนถึงโรงงานผลิตผ้าขนสัตว์ที่เมืองแมนเชสเตอร์ในอังกฤษบ้างไม่มากก็น้อย
ในอินโดนีเซียที่ตกเป็นอาณานิคมของฮอลันดาก็มีการต่อต้านความพยายามของชาวดัทช์ที่ต้องการจะทำให้ชาวอินโดนีเซียหันมารับวัฒนธรรมตะวันตกโดยใช้โรงเรียนและคณะมิชชันนารี
อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ที่ชาติตะวันตกทำกับตุรกีด้วยการทำลายวัฒนธรรมอิสลามทำให้มุสลิมชาวอินโดนีเซียได้รับบทเรียน องค์กรอิสลามที่สำคัญในอินโดนีเซียได้ตั้งรับการรุกรานทางวัฒนธรรมโดยรณรงค์ให้ชาวอินโดนีเซียรักษาการแต่งกายประจำชาติไว้ และหากใครแต่งตัวแบบตะวันตก เช่น ใส่กางเกงแบบฝรั่ง จะถูกตราหน้าว่าเป็น “นัศรอนีย์” (ชาวคริสเตียน)
มีนักศึกษาบางประเทศได้ทุนไปเรียนในยุโรปและเห็นว่าลัทธิชาตินิยมทำให้บางชาติอย่างเช่นเยอรมนีมีความเข้มแข็ง เมื่อกลับมาประเทศของตัวเองและได้เป็นผู้นำ เช่นในรัสเซีย ปัญญาชนที่นิยมยุโรปมองเห็นว่าการไว้เคราเป็นความล้าหลังเมื่อเปรียบเทียบกับชาวเยอรมันที่ไม่ไว้เครายังเจริญก้าวหน้าได้ จึงสั่งให้ทหารและเจ้าหน้าที่รัฐบาลเลิกไว้เครา
ลัทธิชาตินิยมได้ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยเช่นกันเมี่อนักศึกษาที่จบมาจากยุโรปได้ขึ้นเป็นผู้นำและใช้นโยบาย “มาลานำชาติไทย” โดยส่งเสริมให้คนไทยใส่หมวกตามแบบตะวันตก เลิกนุ่งกางเกงแพรหรือโจงกระเบนและหันมาใส่ผ้านุ่งหรือนุ่งกางเกงแบบตะวันตก
ไม่เพียงเท่านั้น นโยบายรัฐนิยมที่พยายามจะทำให้คนไทยทุกคนนับถือศาสนาเดียวกันยังก่อให้เกิดปัญหาความไม่สงบขึ้นในภาคใต้ที่ยังไม่จบจนถึงทุกวันนี้
ที่มา : facebook ของอาจารย์บรรจง บินกาซัน มูลนิธิสันติชน
https://www.facebook.com/Banjong.Binkason
| | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | |
[ Translate by Google Translate ]
Source: facebook of Mr.Banjong Binkason Santichon Islamic Foundation
https://www.facebook.com/Banjong.Binkasonc
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น