บรรจง บินกาซัน
มนุษย์เราเมื่อเคารพนับถือสิ่งใดจะวางสิ่งนั้นไว้ข้างหน้าและหันไปทางนั้นเพื่อทำความเคารพ เช่น ทุกคนหันหน้าไปยังธงชาติเพื่อแสดงความเคารพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์เคารพกราบไหว้ก็ถูกวางไว้ข้างหน้า
พฤติกรรมทางธรรมชาติเช่นนี้ทำให้ผมตั้งคำถามในใจว่าเมื่อศาสนิกต่างๆมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตัวเองเคารพนับถือแล้ว ศาสนสถานของแต่ละศาสนามีการกำหนดชุมทิศหรือทิศทางที่ศาสนิกต้องหันหน้าไปเมื่อทำพิธีกรรมสวดมนต์หรือไม่และอย่างไร
ในอิสลาม มัสญิดแห่งแรกคือก๊ะอฺบ๊ะฮฺซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมักก๊ะฮฺ สถานที่แห่งนี้ถูกสร้างโดยอับราฮัม(นบีอิบรอฮีม)และอิสมาอีลลูกชายของท่านตามคำบัญชาของพระเจ้าเมื่อประมาณ 4,000 ปีที่แล้วเพื่อใช้เป็นสถานที่เคารพสักการะพระองค์ ก๊ะอฺบ๊ะฮฺถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บัยตุลลอฮฺ” (บ้านของพระเจ้า)
คัมภีร์กุรอานเล่าว่าหลังจากสร้างก๊ะอฺบ๊ะฮฺเสร็จแล้ว นบีอิบรอฮีมได้วิงวอนขอต่อพระเจ้าสามอย่างด้วยกัน นั่นคือ 1) ขอให้เมืองมักก๊ะฮฺเป็นเมืองที่ปลอดภัย 2) ขอให้เมืองมักก๊ะฮฺมีผลไม้อุดมสมบูรณ์ และ 3) ขอให้ลูกหลานของท่านได้เป็นผู้นำของมนุษยชาติ
พระเจ้าตอบรับคำวิงวอนของนบีอิบรอฮีมทั้งสามประการ มักก๊ะฮฺเป็นเมืองแห่งการทำฮัจญ์ที่ผู้ไปทำฮัจญ์ได้รับความปลอดภัยในระหว่างพิธีฮัจญ์ มักก๊ะฮฺมีผลไม้ดีๆจากทั่วทุกแห่งของโลกให้กินตลอดทั้งปีแม้ในเมืองมักก๊ะฮฺไม่สามารถปลูกอะไรได้เลย แถมยังมีน้ำซัมซัมให้ผู้ทำพิธีฮัจญ์ได้ดื่มและยังผู้ทำพิธีฮัจญ์ยังนำกลับมาเป็นของขวัญแก่คนทางบ้านด้วย
คำวิงวอนที่สามเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก พระเจ้าได้ตอบรับคำวิงวอนของนบีอิบรอฮีมโดยการให้ท่านได้เป็นบรรพบุรุษแห่งความศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว ลูกหลานของท่านเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณหรือ “นบี” ที่ชาวยิว ชาวคริสเตียนและชาวมุสลิมรู้จักดี ชื่อนบีเหล่านี้มีกล่าวไว้ทั้งในคัมภีร์ไบเบิลและคัมภีร์กุรอาน เช่น โมเสส ดาวิด โซโลมอน ซะกะรียา ยอห์นแบพติสต์(ยะฮฺยา) เยซัสและมุฮัมมัด
เดิมที อาคารก๊ะอฺบ๊ะฮฺมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ภายในอาคารใช้ทำพิธีแสดงความเคารพสักการะพระเจ้าองค์เดียว แต่หลังสมัยนบีอิบรอฮีม ชาวอาหรับได้นำเอารูปเคารพสารพัดรูปร่างจำนวน 360 รูปมาตั้งไว้ข้างในและภายนอกเพื่อสักการบูชาแทนพระเจ้า
ก๊ะอฺบ๊ะฮฺผุพังไปตามกาลเวลา เมื่อมีการบูรณะใหม่ก่อนหน้าสมัยนบีมุฮัมมัด อาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าได้กลายเป็นอาคารสี่เหลี่ยมทรงจัตุรัสและถูกคลุมด้วยผ้าสีดำดังทีเห็นในปัจจุบัน
ก่อนหน้าสมัยของนบีมุฮัมมัด ที่เมืองเยรูซาเล็มมีศาสนสถาน(หรือมัสญิด)สำคัญอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมทางด้านจิตวิญญาณของพวกลูกหลานอิสราเอล เดิมที คนเหล่านี้เป็นมุสลิมเพราะมีความศรัทธาตามอับราฮัมบรรพบุรุษของตน ชาวอาหรับรู้จักมัสญิดแห่งนี้เพราะไปค้าขายที่นั่นและเรียกมัสญิดแห่งนี้ว่า “มัสญิด อัลอักซอ” (มัสญิดอันไกลโพ้น) เมื่อมุสลิมชาวอาหรับถามนบีมุฮัมมัดว่าใครสร้างมัสญิดอัลอักซอ ท่านนบีตอบว่านบีอิบรอฮีมเป็นผู้สร้างหลังจากสร้างก๊ะอฺบ๊ะฮฺ 40 ปี เมื่อมัสญิดแห่งนี้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา นบีสุไลมานหรือโซโลมอนได้สร้างมัสญิดแห่งนี้ขึ้นใหม่บนที่ตั้งเดียวกัน
ก่อนนบีมุฮัมมัดเริ่มเผยแผ่อิสลาม ก๊ะอฺบ๊ะฮฺได้สูญเสียสถานะความเป็นบ้านของพระเจ้าองค์เดียว ในขณะที่พวกลูกหลานอิสราเอลใช้มัสญิดอัลอักซอเป็นสถานที่สวดอธิษฐานแสดงเคารพสักการะพระเจ้าองค์เดียว
เมื่อนบีมุฮัมมัดและมุสลิมอพยพออกจากมักก๊ะฮฺมายังเมืองมะดีนะฮฺเพราะถูกชาวเมืองขับไล่ ท่านได้สั่งมุสลิมให้ละหมาดโดยหันหน้าไปทางทิศที่ตั้งมัสญิดอัลอักซอเหมือนพวกลูกหลานอิสราเอลที่อพยพมาอยู่ในเมืองมะดีนะฮฺ แม้ในตอนนั้นมัสญิดดอัลอักซอได้ถูกพวกโรมันทำลายไปแล้ว
แต่เมื่อนบีมุฮัมมัดแสดงตนเป็นนบีที่พระเจ้าแต่งตั้งแก่พวกลูกหลานอิสราเอล คนเหล่านี้กลับไม่เชื่อทั้งนี้เพราะนบีมุฮัมมัดเป็นชาวอาหรับที่พวกลูกหลานอิสราเอลดูถูก นบีมุฮัมมัดจึงรู้สึกผิดหวังและอยากจะหันหน้าไปยังก๊ะอฺบ๊ะฮฺ ท่านแหงนมองขึ้นไปบนท้องฟ้าด้วยความหวังว่าพระเจ้าจะอนุญาตให้ทำตามนั้น
ในที่สุด วันหนึ่ง พระเจ้าก็มีบัญชาให้ท่านและมุสลิมหันหน้าไปยังก๊ะอฺบ๊ะฮฺในเวลาละหมาดทั้งๆที่ก๊ะอฺบ๊ะฮฺยังมีรูปเคารพมากมายตั้งอยู่ แต่เมื่อท่านพิชิตมักก๊ะฮฺได้ในปีที่แปดหลังจากการอพยพ ท่านได้สั่งให้ทำลายรูปเคารพทั้งหมดในก๊ะอฺบ๊ะฮฺและสั่งให้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับการเคารพสักการะพระเจ้าองค์เดียวและมุสลิมทุกส่วนของโลกต้องหันมาทางนี้ในเวลาละหมาด ด้วยเหตุนี้ มัสญิดทุกแห่งในโลกนี้จึงต้องกำหนดชุมทิศ(กิบลัต)ที่ก๊ะฮฺบ๊ะฮฺ
ที่มา : facebook ของอาจารย์บรรจง บินกาซัน มูลนิธิสันติชน
https://www.facebook.com/Banjong.Binkason
| | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | |
[ Translate by Google Translate ]
Qiblah Chumthit Islam
Source: facebook of Mr.Banjong Binkason Santichon Islamic Foundation
https://www.facebook.com/Banjong.Binkasonc
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น