บรรจง บินกาซัน
เมื่ออับรอฮะกษัตริย์แห่งเยเมนยกกองทัพมายังมักก๊ะฮฺเพื่อทำลายก๊ะอฺบ๊ะฮฺ ระหว่างทาง กองทัพของเขาผ่านที่ใดก็จะยึดปศุสัตว์ไม่ว่าอูฐ แพะหรือแกะและพืชผลของผู้คนเพื่อนำไปเป็นเสบียง ไม่มีชาวอาหรับเผ่าใดสามารถต้านทานเขาได้เพราะเขามีช้างที่ชาวอาหรับไม่เคยเห็นเป็นทัพหน้า
เมื่อเข้ามาใกล้เมืองมักก๊ะฮฺ เขาสั่งกองทัพของเขาให้พักแรมก่อนปฏิบัติภารกิจทำลายก๊ะอฺบ๊ะฮฺศูนย์กลางทางศาสนาของชาวอาหรับ
ระหว่างพักแรมอยู่นั้น เขาต้องการพบหัวหน้าชาวเมืองมักก๊ะฮฺ เขาจึงส่งคนให้ไปตามเพื่อแจ้งถึงวัตถุประสงค์ในการยกทัพมาของเขา เวลานั้น อับดุลมุฏฏอลิบเป็นผู้นำเมืองมักก๊ะฮฺ เขาเป็นหัวหน้าของเผ่ากุเรชซึ่งเป็นเผ่าใหญ่ที่ทำหน้าที่ดูแลก๊ะอฺบ๊ะฮฺและให้บริการผู้มาทำฮัจญ์มาเป็นเวลานานแล้ว ด้วยภาระหน้าที่อันมีเกียรตินี้เองที่ทำให้แม้แต่ชาวอาหรับทั่วไปก็ให้ความเคารพเขาด้วย
เมื่ออับดุลมุฏฏอลิบปรากฏตัวต่อหน้าอับรอฮะ บุคลิกภาพของเขาสร้างความประทับใจและความน่าเคารพให้แก่อับรอฮะเป็นอย่างมาก อับรอฮะพูดกับอับดุลมุฏฏอลิบด้วยความสุภาพถึงวัตถุประสงค์ในการมาของเขาว่าเขาจะทำลายก๊ะอฺบ๊ะฮฺเพื่อให้คนไปทำฮัจญ์ที่วิหารหลังใหม่ที่เขาสร้างไว้ที่เยเมน หลังจากนั้น เขาได้ถามอับดุลมุฏฏอลิบว่ามีอะไรจะพูดหรือไม่
อับดุลมุฏฏอลิบบอกอับรอฮะตรงไปตรงมาอย่างสุภาพเช่นกันว่าเขาขออูฐสองร้อยตัวที่ทหารในกองทัพของเขายึดไปกลับคืนมา
เมื่อได้ยินเช่นนั้น อับรอฮะจึงกล่าวว่า “ฉันรู้สึกผิดหวังในความเป็นหัวหน้าชาวเมืองมักก๊ะฮฺของท่านเป็นอย่างมาก ท่านสร้างความประทับใจให้ฉันในตอนแรก แต่แทนที่ท่านจะห่วงบ้านเมืองและผู้คน ท่านกลับห่วงทรัพย์สินของตัวท่านเอง”
อับดุลมุฏฏอลิบกล่าวว่า “อูฐสองร้อยตัวนั้นเป็นของฉัน ฉันมีหน้าที่ดูแลมัน ส่วนก๊ะอฺบ๊ะฮฺนั้นเป็นของพระเจ้า พระเจ้าจะดูแลเอง”
เมื่อได้ยินเช่นนั้น อับรอฮะได้สั่งทหารของเขานำอูฐทั้งหมดมาคืนอับดุลมุฏฏอลิบไป เมื่ออับดุลมุฏฏอลิบได้อูฐกลับคืนมาแล้ว เขามุ่งหน้าสู่เมืองมักก๊ะฮฺและด้วยการรู้ว่าชาวเมืองมักก๊ะฮฺไม่สามารถต้านทานกองทัพของอับรอฮะได้ เขาจึงบอกชาวเมืองทั้งหมดให้ขึ้นไปหาที่หลบภัยบนภูเขารอบก๊ะอฺบ๊ะฮฺ และเขาวิงวอนด้วยความหวังว่าพระเจ้าเท่านั้นที่จะคุ้มครองก๊ะอฺบ๊ะฮฺที่เป็นบ้านของพระองค์
กองทัพของอับรอฮะที่มีช้างนำหน้ามาไม่สามารถทำลายก๊ะอฺบ๊ะฮฺได้ มิหนำซ้ำยังต้องพบกับความพ่ายแพ้ที่เขาและชาวมักก๊ะฮฺเองไม่คาดคิด นั่นคือ ก่อนกองทัพของอับรอฮะจะถึงก๊ะอฺบ๊ะฮฺ บนท้องฟ้ามีฝูงนกขนาดมหึมานำหินมาโปรยใส่กองทหารจนได้รับบาดเจ็บและล้มตายแตกพ่ายไปในที่สุด
เรื่องราวดังกล่าวนี้เกิดขึ้นก่อนหน้านบีมุฮัมมัดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนบีประมาณสี่สิบปี เมื่อท่านเริ่มเผยแผ่หลักศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว ผู้นำชาวเมืองมักก๊ะฮฺและแม้แต่ญาติผู้ใหญ่ของท่านได้ต่อต้านท่าน พระเจ้าจึงได้ประทานเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นให้แก่ท่านเพื่อเตือนหัวหน้าชาวเมืองให้นึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าในตอนที่ก๊ะอฺบ๊ะฮฺกำลังจะถูกทำลาย เทวรูปนับร้อยที่ตั้งเรียงรายรอบก๊ะอฺบ๊ะฮฺไม่ได้ขยับอะไรเลยในการปกป้อง แต่พระเจ้าต่างหากที่ส่งฝูงนกมาปกป้องก๊ะอฺบ๊ะฮฺด้วยการทำลายกองทัพของอับรอฮะ
คัมภีร์กุรอานบอกเล่าเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ในบทที่มีชื่อว่า “อัลฟีล” ซึ่งแปลว่า “ช้าง”
ชาวอาหรับใช้คำว่าอัลฟีลเพื่อเรียกช้างมาตั้งแต่นั้น และเมื่ออิทธิพลวัฒนธรรมของอิสลามแผ่ไปทางตะวันตกข้ามไปในยุโรป อาณาจักรอันดะลุสที่รุ่งเรืองได้ถูกก่อตั้งขึ้นในสเปนในขณะที่ยุโรปอยู่ในยุคมืด เมื่อชาวยุโรปมาศึกษาหาความรู้ที่เมืองคอร์โดบาซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอันดะลุส ชาวยุโรปต้องเรียนเป็นภาษาอาหรับ และคำหนึ่งที่ชาวยุโรปรู้จักคือคำว่า “อัลฟีล” แต่ชาวยุโรปออกเสียงเพี้ยนไปเป็น elephant
ที่มา : facebook ของอาจารย์บรรจง บินกาซัน มูลนิธิสันติชน
https://www.facebook.com/Banjong.Binkason
| | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | |
[ Translate by Google Translate ]
Origin of the word elephant
Source: facebook of Mr.Banjong Binkason Santichon Islamic Foundation
https://www.facebook.com/Banjong.Binkason
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น