จุดเริ่มต้นฮิจญ์เราะฮฺศักราช
วันนี้ 14 ตุลาคม 2558 ตรงกับวันที่ 1 เดือนมุฮัรฺร็อม ฮ.ศ.1437 ซึ่งถือว่าเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ของศักราชอิสลาม ผมจึงอยากทำความเข้าใจให้พี่น้องมุสลิมและคนทั่วไปได้เข้าใจถึงที่มาของการเริ่มต้นศักราชอิสลาม ซึ่งเรียกกันว่า "ฮิจญ์เราะฮฺศักราช"
มนุษย์รู้จักการคำนวณวันเดือนปีจนสามารถทำปฏิทินได้นานนับพันปีแล้ว ชาวมายาในอเมริกาใต้ที่มีอารยธรรมมานานกว่าห้าพันปีเคยทำปฏิทินของตนเองใช้ แต่ไม่มีใครรู้ว่าศักราชของชาวมายาเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด ที่รู้กันก็แค่เพียงปฏิทินของชาวมายาจะสิ้นสุดลงตรงกับวันที่ 21/12/2012 มนุษย์บางคนจึงทึกทักตีความตามความคิดของตัวเองว่าการสิ้นสุดปฏิทินมายาคือการสิ้นโลกซึ่งสร้างความกังวลให้แก่คนที่มีความเชื่อในเรื่องนี้
ทุกอารยธรรมต่างมีศักราชเป็นของตัวเองและศักราชของแต่ละอารยธรรมก็มีจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน พุทธศักราชมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน คริสต์ศักราชมีจุดเริ่มต้นจากวันสมภพของพระเยซู ปฏิทินของทั้งสองอารยธรรมจึงมีจุดเริ่มต้นจากวาระโอกาสสำคัญของศาสดาที่เป็นผู้สั่งสอนศาสนาและปฏิทินทั้งสองนี้เป็นปฏิทินสุริยคติ
ชาวอาหรับก่อนหน้าสมัยอิสลามมีการนับเดือนโดยอาศัยการโคจรของดวงจันทร์หรือจันทรคติและกำหนดว่าในเดือนสุดท้ายของทุกปีจะเป็นเดือนของการทำฮัจญ์ที่นครมักก๊ะฮฺ
เนื่องจากในเดือนแห่งการทำฮัจญ์มีชาวอาหรับเดินทางมายังเมืองมักก๊ะฮฺพร้อมกับกองคาราวานสินค้า ดังนั้น ชาวอาหรับจึงกำหนดเป็นประเพณีของตนว่าหนึ่งเดือนก่อนและหนึ่งเดือนหลังของเดือนทำพิธีฮัจญ์ถือเป็นเดือนแห่งการต้องห้ามรบราฆ่าฟันหรือทำสงครามเพื่อเป็นการปกป้องคนที่เดินทางมาทำพิธีฮัจญ์ทั้งขามาและขากลับ แต่กระนั้น ชาวอาหรับก่อนหน้าสมัยอิสลามก็ยังไม่มีปฏิทินบอกศักราชของตนเอง
อย่างไรก็ตาม ชาวอาหรับจะใช้เหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นมาตั้งชื่อปี เช่น ในปีหนึ่ง เจ้าเมืองเยเมนได้ส่งกองทัพใหญ่บุกมายังเมืองมักก๊ะฮฺโดยมุ่งหมายจะทำลายก๊ะอฺบ๊ะฮฺเพื่อให้ชาวอาหรับทั่วทั้งแผ่นดินไปทำฮัจญ์ยังวิหารใหญ่ที่เจ้าเมืองเยเมนได้สร้างไว้ ในการส่งกองทัพมาครั้งนั้น เจ้าเมืองเยเมนได้นำช้างศึกหลายตัวนำหน้ากองทัพมาด้วย แต่ปรากฏว่ากองทัพจากเยเมนต้องได้รับความพ่ายแพ้กลับไป ปีนั้นจึงถูกชาวอาหรับเรียกว่าปีช้างและปีนั้นเองที่นบีมุฮัมมัดถือกำเนิดขึ้น หากถามชาวอาหรับในเวลานั้นว่านบีมุฮัมมัดเกิดในปีอะไร ชาวอาหรับก็จะตอบว่าปีช้าง
เมื่อนบีมุฮัมมัดเริ่มเผยแผ่อิสลาม ท่านได้รับคำยืนยันจากพระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์กุรอานว่าปีหนึ่งมี 12 เดือนเพื่อเป็นการกำหนดการปฏิบัติศาสนกิจ เช่น การถือศีลอดและการทำพิธีฮัจญ์ กระนั้นก็ตาม ชาวอาหรับมุสลิมในสมัยของนบีมุฮัมมัดก็ยังไม่มีปฏิทินและศักราชเป็นของตนเอง
หลังสมัยของนบีมุฮัมมัด ประมาณ ค.ศ.638 อบูมูซา อัชอารี เจ้าหน้าที่ของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺในเมืองบัสเราะฮฺได้ร้องเรียนอุมัรฺว่าจดหมายที่เขาได้รับจากเมืองหลวงนั้นไม่ได้ระบุปีไว้ เขาจึงไม่รู้ว่าจดหมายฉบับไหนมาก่อนหรือจดหมายฉบับใดเป็นฉบับล่าสุด ด้วยเหตุนี้ เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประชาชาติมุสลิมต้องมีปฏิทินและศักราชของตนเอง
หลังจากพูดคุยกับที่ปรึกษา อุมัรฺก็กำหนดว่าปีแรกของปฏิทินอิสลามควรจะเริ่มต้นในปีที่นบีมุฮัมมัดอพยพไปยังเมืองยัษริบ (ปัจจุบันคือเมืองมะดีนะฮฺ) อุษมาน บินอัฟฟาน สาวกผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งของท่านนบีจึงเสนอว่าถ้าปฏิทินของมุสลิมมี 12 เดือนตามที่ถูกกำหนดไว้โดยพระเจ้าในคัมภีร์กุรอาน เดือนแรกของปฏิทินก็ควรจะเป็นเดือนมุฮัรฺร็อมเพื่อเป็นการสอดคล้องกับประเพณีของชาวอาหรับในเวลานั้น เมื่อทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ศักราชของอิสลามจึงเริ่มตั้งแต่ปีที่ท่านนบีมุฮัมมัดอพยพออกจากมักก๊ะฮฺไปยังเมืองมะดีนะฮฺ
เนื่องจากศักราชของอิสลามเริ่มต้นจากการอพยพของท่านนบีมุฮัมมัดและการอพยพตรงกับคำว่า “ฮิจญ์เราะฮฺ”ในภาษาอาหรับ ดังนั้น ปฏิทินอิสลามจึงถูกเรียกว่า “ปฏิทินฮิจญ์เราะฮฺ” และศักราชของอิสลามถูกเรียกว่า “ฮิจญ์เราะฮฺศักราช” วันที่ 1 เดือนมุฮัรฺร็อม ฮ.ศ.1 ตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.622
นอกจากนี้แล้ว การเริ่มต้นวันใหม่ของปฏิทินอิสลามยังแตกต่างไปจากปฏิทินในระบบสุริยคติด้วย กล่าวคือ วันใหม่ในปฏิทินอิสลามซึ่งเป็นปฏิทินจันทรคติเริ่มต้นเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในขณะที่วันใหม่ในปฏิทินทางสุริยะคติเริ่มต้นหลังเที่ยงคืน และปฏิทินฮิจญ์เราะฮฺมีจำนวนวันน้อยกว่าปฏิทินสุริยคติประมาณ 10-11 วัน ด้วยเหตุนี้ เดือนในปฏิทินฮิจญ์เราะฮฺจึงไม่ได้เป็นการบ่งบอกถึงฤดูกาลเหมือนในปฏิทินสุริยคติ
แม้วันปีใหม่ของศักราชอิสลามหรือศักราชสากลมาถึง ชาวมุสลิมทั่วโลกจะไม่ถือว่ามันเป็นวาระโอกาสสำคัญที่ต้องเฉลิมฉลอง เพราะวันปีใหม่ก็เป็นแค่เพียงการเปลี่ยนวันเดือนปีใหม่เท่านั้นเอง หากวันเดือนปีเปลี่ยนไปโดยที่มนุษย์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น การเฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่ก็เป็นการเฉลิมฉลองที่ไร้สาระ
ที่มา : facebook ของอาจารย์บรรจง บินกาซัน มูลนิธิสันติชน
https://www.facebook.com/Banjong.Binkason
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น