บรรจง บินกาซัน
หลังจากอับราฮัม(นบีอิบรอฮีม)และอิสมาอีลบุตรหัวปีสร้างก๊ะอฺบ๊ะฮฺเพื่อใช้เป็นสถานที่เคารพสักการะพระเจ้าเสร็จแล้ว อับราฮัมได้วิงวอนต่อพระเจ้าว่า
“โอ้พระผู้อภิบาลของเรา โปรดทำให้เราทั้งสองเป็นผู้นอบน้อมต่อพระองค์ และได้โปรดให้ลูกหลานของเราเป็นชนชาติที่นอบน้อมต่อพระองค์ ขอได้ทรงแสดงให้เราเห็นถึงการปฏิบัติศาสนกิจของเรา...” (กุรอาน 2.128)
พระเจ้าตอบรับคำวิงวอนของอับราฮัม ดังนั้น ลูกหลานของอับราฮัมจากอิสมาอีลและอิสฮากจึงเป็นชนชาติที่มีนบีเกิดขึ้นมากมายและพระเจ้าได้บอกเขาให้รู้ถึงวิธีการเคารพสักการะพระองค์
อย่างไรก็ตาม อับราฮัมกังวลว่าหลังจากเขาจากลาโลกนี้ไปแล้ว ลูกหลานของเขาอาจหลงลืมและหลงผิดจนลืมวิธีการเคารพสักการะพระเจ้า ดังนั้น เขาจึงวิงวอนต่อพระเจ้าว่า
“โอ้พระผู้อภิบาลของเรา โปรดให้ในหมู่พวกเขามีรอซูล(ศาสนทูต)ขึ้นมาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่จะมาสาธยายสัญญาณทั้งหลายของพระองค์แก่พวกเขาและสอนคัมภีร์และวิทยปัญญาแก่พวกเขาและขัดเกลาชีวิตของพวกเขาให้สะอาด.......” (กุรอาน 2.129)
ความกังวลของอับราฮัมเป็นจริง เพราะหลังจากเขาและอิสมาอีลจากโลกนี้ไปแล้ว ชาวอาหรับลูกหลานของเขาทางฝ่ายอิสมาอีลได้หลงลืมวิธีการปฏิบัติศาสนกิจจนหันไปกราบไหว้บูชารูปเคารพแทนพระเจ้า แต่พระเจ้าได้ตอบคำวิงวอนของอับราฮัมที่ขอให้ในหมู่ชาวอาหรับมีนบีคนหนึ่งเพื่อสอนคัมภีร์แก่ลูกหลานของเขาโดยการให้มุฮัมมัดถือกำเนิดขึ้นมาในหมู่ชาวอาหรับและได้รับคัมภีร์กุรอานจากพระเจ้า
นบีมุฮัมมัดกล่าวว่าตัวท่านเองคือคำวิงวอนของอับราฮัมเพราะท่านได้มาบอกถึงวิธีการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆที่อับราฮัมสอนไว้และลูกหลานของเขาได้หลงลืมไป
พิธีฮัจญ์เป็นศาสนพิธีอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญ ก่อนหน้าสมัยนบีมุฮัมมัด ชาวอาหรับทำพิธีฮัจญ์โดยการมาเวียนรอบก๊ะอฺบ๊ะฮฺในสภาพของคนเดียรถีย์และเชือดสัตว์เพื่อเอาเนื้อไปแจกจ่ายโดยหวังให้คนร่ำลือว่าตัวเองเป็นคนใจบุญและโอบอ้อมอารี และพิธีทั้งหมดจำกัดอยู่ในเมืองมักก๊ะฮฺเท่านั้น
แต่ “ฮัจญ์” โดยภาษาหมายถึง “การเดินทางสู่จุดมุ่งหมายแห่งหนึ่ง” และจุดมุ่งหมายนั้นคือพระเจ้าที่ทุกชีวิตต้องกลับไป แต่การเดินทางกลับไปหาพระเจ้าเป็นการเดินทางด้านจิตวิญญาณซึ่งจะเริ่มต้นเมื่อวิญญาณออกจากร่างในอนาคต พิธีฮัจญ์ของนบีมุฮัมมัดจึงถูกทำไปในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเดินทางของวิญญาณหลังจากออกจากร่างของมนุษย์ไปจนถึงวันอวสานและการไปชุมนุมต่อหน้าพระเจ้าเพื่อรับการพิพากษา
พิธีฮัจญ์ใช้เวลาจริงๆ 6 วันโดยเริ่มต้นในเช้าวันที่ 8 เดือนซุลฮิจญะฮฺ ผู้ทำฮัจญ์จากทั่วโลกที่ชุมนุมกันที่เมืองมักก๊ะฮฺประมาณสองล้านคนจะออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ทุ่งกว้างในตำบลมินาเป็นระยะทาง 9 ก.ม. เพื่อพักค้างคืนที่นั่นหนึ่งคืน การเดินทางออกจากมักก๊ะฮฺนี้เปรียบเหมือนการเดินทางของวิญญาณที่ออกจากร่างมนุษย์ ทุ่งมินาเปรียบเสมือนโลกแห่งสุสานที่วิญญาณทุกดวงไปพักเพื่อรอวันสิ้นโลก
เช้าวันที่ 9 ผู้ทำฮัจญ์นับล้านคนที่ค้างแรมที่ทุ่งมินาต้องออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ทุ่งอะเราะฟะฮฺเป็นระยะทาง 18 ก.ม.เพื่อไปชุมนุมกันที่นั่นในตอนบ่าย การมาชุมนุมที่นี่ถือเป็นจุดสำคัญของการทำพิธีฮัจญ์ ใครไม่ได้มายังสถานที่แห่งนี้ตามเวลาที่กำหนดไว้ถือว่าไม่ได้มาทำฮัจญ์
การออกจากทุ่งมินาไปชุมนุมกันที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺเป็นเหมือนกับการบอกให้มนุษย์รู้ว่าเมื่อวันอวสานมาถึง ทุกชีวิตตั้งแต่คนแรกถึงคนสุดท้ายต้องไปปรากฏตัวต่อหน้าพระเจ้าเพื่อรับการพิพากษาจากพระองค์สำหรับสิ่งที่ตัวเองทำไว้ ดังนั้น ขณะที่อยู่ในทุ่งอะเราะฟะฮฺ สิ่งที่ผู้ทำฮัจญ์ทุกคนจะทำกันคือการวิงวอนขอการอภัยโทษต่อพระองค์
ในระหว่างพิธีฮัจญ์ ผู้มาชุมนุมในทุ่งอะเราะฟะฮฺมาทั้งร่ายและวิญญาณ แต่การไปชุมนุมต่อหน้าพระเจ้าในโลกหน้าที่มีวิญญาณมาอย่างเดียวเพื่อรับการพิพากษา ทุกชีวิตไม่มีโอกาสกลับมาแก้ตัวอีกแล้ว ดังนั้น เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า นบีมุฮัมมัดจึงให้ผู้ทำฮัจญ์ทั้งหมดออกจากทุ่งอะเราะฟะฮฺเพื่อไปทำอีกภารกิจหนึ่ง นั่นคือ การขว้างหินเพื่อระลึกถึงวีรกรรมแห่งความศรัทธาของอับราฮัมที่ต่อสู้กับซาตานเมื่อมันมายั่วยุให้ฝ่าฝืนคำบัญชาของพระเจ้า
นบีมุฮัมมัดต้องการจะสอนมนุษย์ว่า ก่อนวิญญาณจะกลับไปหาพระเจ้าด้วยความปลอดภัย มนุษย์ต้องต่อสู้และเอาชนะซาตานให้ได้เสียก่อน
ที่มา : facebook ของอาจารย์บรรจง บินกาซัน มูลนิธิสันติชน
https://www.facebook.com/Banjong.Binkason
| | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | |
[ Translate by Google Translate ]
Hajj: Looking back into the future
Source: facebook of Mr.Banjong Binkason Santichon Islamic Foundation
https://www.facebook.com/Banjong.Binkason
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น